หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กุหลาบ..สื่อรักแสนหวาน สาวงามแสนสวย

กุหลาบ (Rose) เป็นดอกไม้ที่ผู้หญิงทุกคนมักจะหลงใหลในความงามของเธอ เนื่องจากความสวยงามของดอก สีสัน และกลิ่นที่หอมหวานชวนดม นอกจากนี้มันยังมีหนามที่แหลมคมไว้ปกป้องต้วเอง  หลายคนจึงเปรียบเปรยความงามของผู้หญิงว่าเหมือน "ดอกกุหลาบ"  เช่นเดียวกับพระนางคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ ซึ่งเป็นเทพีหรือสัญญลักษณ์แห่งความงามของผู้หญิง เธอคือคนแรกในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ได้รับการเปรียบเปรยความงามและความมีเสน่ห์ไว้ เฉกเช่นดอกกุหลาบงาม...


ประวัติและตำนานรักแสนหวาน..

กุหลาบ (Rose) เป็นไม้ที่เป็นที่นิยมปลูกและชื่นชมมาแต่โบราณ  แลประมาณว่าได้เกิดขึ้นมากว่า 70 ล้านปีมาแล้ว เนื่องจากเคยมีการค้นพบฟอสซิลของกุหลาบที่รัฐโคโลลาโด และรัฐโอเลกอนในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เป็นกุหลาบป่าและมีรูปร่างไม่เหมือนทุกวันนี้  และได้มีการพิสูจน์กันว่า กุหลาบป่าเป็นพืชที่มีอายุถึง 40 ล้านปี

กุหลาบป่า (Rosa roxbrghiitratt)
ความจริงแล้วกำเนิดของกุหลาบหรือกุหลาบป่านี้ มีเฉพาะในแถบบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรของโลกเท่านั้น คือกำเนิดในภาคกลางของทวีปเอเชีย แล้วแพร่ขยายพันธุ์ไปตลอดซีกโลกเหนือ ไม่ว่าจะเป็นแถบที่มีอากาศหนาวจัดอย่าง อาร์กติก อลาสก้า ไซบีเรีย หรือแถบอากาศร้อนอย่าง อินเดีย แอฟริกาเหนือ แต่ในบริเวณแถบใต้เส้นศูนย์สูตรอย่างทวีปออสเตรเลีย หรือเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรรวมทั้งแอฟริกาใต้ ไม่เคยมีปรากฏว่ามีกุหลาบป่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเลย

Dog Rose คือกุหลาบป่าชนิดหนึ่ง
ผลของกุหลาบป่า (Rose hip) มีสรรพคุณทางยา
จีน ตามประวัติศาสตร์กล่าวกันว่า กุหลาบป่าถูกนำมาปลูกไว้ในพระราชวังของจักรพรรดิ์จีน ในสมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว  ขณะที่อียิปต์เองก็ปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอกส่งไปขายให้แก่ชาวโรมันอยู่เหมือนกัน เพราะชาวโรมันเป็นชาติที่รักดอกกุหลาบมาก แม้ว่าจะสั่งซื้อจากประเทศอียิปต์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังลงทุนสร้างเนสเซอรี่ขนาดใหญ่ไว้สำหรับปลูกดอกกุหลาบอีกด้วย


Rose garden in Rome
โรมหรือโรมัน กุหลาบถือได้ว่าเป็นดอกไม้ที่ความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของชาวโรมัน และเป็นสัญลักษณ์ของความรัก  ชาวโรมันจึงได้นิยมมอบดอกกุหลาบให้เป็นของขวัญอันล้ำค่า และนำมาร้อยเป็นมาลัยต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมทั้งเป็นดอกไม้ที่ใช้จัดในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ   ทั้งนี้ เนื่องจากมีความเชื่อในตำนานเล่าขานที่ได้กล่าวถึงเทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพีแห่งความงามและความรัก อันเป็นที่มาของดอกกุหลาบสีแดงว่า มาจากหยดเลือดของนาง


ประเทศไทย กุหลาบเข้ามาเมืองไทยสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่าได้เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา  และพบว่าหลักฐานที่แน่ชัดอีกแห่งก็คือ ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) กล่าวถึงกุหลาบไว้ว่า

"กุหลาบกลิ่นเฟื่องฟุ้ง เนืองนอง

หอมรื่นชื่นชมสอง สังวาส

นึกกระทงใส่พานทอง ก่ำเก้า

หยิบรอจมูกเจ้า บ่ายหน้าเบือนเสีย"

และยังมีตำนานดอกกุหลาบของไทยที่เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง มัทนะพาธา
โดยในเรื่องได้เล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ "มัทนา"  ซึ่งมีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "สุเทษณะ" ทรงหลงรักเทพธิดา "มัทนา" มาก  แต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาปให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จึงกลายเป็นตำนานดอกกุหลาบแต่นั้นมา


กุหลาบ มาจากคำว่า "คุล" ในภาษาเปอร์เชีย แปลว่า "สีแดง ดอกไม้ หรือดอกกุหลาบ" และเข้าใจว่าจากเปอร์เซียได้แพร่เข้าไปในอินเดีย เพราะในภาษาฮินดีมีคำว่า "คุล" แปลว่า "ดอกไม้"  และคำว่า   "คุลาพ" ก็หมายถึงกุหลาบอย่างที่ไทยเราเรียกกัน แต่ออกเสียงเป็น "กุหลาบ"  ส่วนคำว่า "Rose" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า "Rhodon" ที่แปลว่ากุหลาบในภาษากรีก


นายจีระ ดวงพัตรา เจ้าของสวน “จีระโรส” อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกกุหลาบมายาวนานกว่า 50 ปี  ได้เล่าถึงวิวัฒนาการของดอกไม้ที่คนกว่าครึ่งโลกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก..ว่า มีหลักฐานกล่าวไว้ว่า "กุหลาบ" มีต้นกำเนิดที่เขาคอเคซัสในเปอร์เซีย (หรือประเทศอิหร่าน)  เรียกว่า “คุล”  ซึ่งในภาษาเปอร์เซียแปลว่า ดอกไม้ กุหลาบ หรือสีแดง จึงอาจเป็นไปได้ว่าสีกุหลาบในสมัยก่อนนั้นคือสีแดงเข้มถึงแดงอ่อน  นอกจากนี้จากหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ย้อนไปกว่า 1,200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวเปอร์เซียได้บันทึกไว้ว่า กุหลาบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประทินผิว ยา รวมไปถึงส่วนประกอบอาหาร  นอกจากนี้กุหลาบยังได้รับการยอมรับว่า มีสรรพคุณในทางยา ซึ่งใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ป้องกันโรคภัยต่างๆ และ ป้องกันความแก่ชรา มาช้านาน

 

ขอบคุณเว็บไซด์ที่ให้การสนับสนุนข้อมูลที่ดีแก่เรา..
http://www.panmai.com
http://prachatai.com/journal/2011/02/33060

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กล้วยไม้งาม..เอื้องเขาแกะ

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Rhynchostylis coelestis
ชื่อสามัญ : เอื้องเขาแกะ, เขาแกะ
ชื่อพื้นเมือง : เขาควาย, เอื้องขี้หมา



เขาแกะ เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่งในสายสกุลช้าง (Rhynchostylis) ธรรมชาติของมันชอบขึ้นอยู่ในพื้นที่ป่าโปร่งผลัดใบ และคงไม่มีเอื้องชนิดไหนงามเทียบเท่า "เขาแกะ" ที่อยู่ในพื้นที่ป่าดังกล่าว  เราจึงมักพบ เขาแกะ ได้ทั่วไปบนคาคบไม้ในป่าโปร่งร้อน เนื่องจากมันเป็นกล้วยไม้ที่ทนความร้อนได้อย่างสุด ๆ


"เขาแกะ" ถูกเรียกชื่อตามลักษณะพบเห็น เนื่องจากใบที่โค้งงอสลับกันไปมาซ้าย-ขวา เหมือนดั่งเขาของแกะ แต่ในภาคเหนือเรามักจะเรียกว่า "เอื้องขี้หมา" หรือเรียกอีกชื่อว่า "เอื้องเขาควาย" ในภาษาอังกฤษมักนิยมเรียกว่า Blue Foxtail แปลว่า จิ้งจอกหางน้ำเงิน


เนื่องลักษณะของช่อที่ตั้งยาวขึ้น เขาแกะ จึงเป็นที่นิยมไม่น้อยในหมู่นักพัฒนากล้วยไม้ทั้งไทยและนอกจากนี้ เขาแกะ ถูกนำไปผสมกับกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์ เช่น แวนดา เข็ม หรือสายพันธุ์อื่น ๆ ก็อาจเป็นได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น เขาแกะ มีรูปทรงใบเป็นรูปทรงกระบอก ค่อนข้างเตี้ย ตั้งตรง เจริญเติบโตทางยอด

ใบ มีลักษณะแบบคล้ายแวนด้า เรียงสลับซ้ายขวา โคนใบเป็นแผงชิดกันแน่น ปลายใบโค้งลงเล็กน้อย มองดูคล้าย เขาแกะ หรือเขาควาย แผ่นใบบางและเหนียวห่อเข้าหากัน ยาว 10-15 เซนติเมตร

ดอก เป็นช่อตั้งตรง ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกเบียดกันแน่น ขนาดดอกราว 1.5-2.0 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงบนรูปรีแกมรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปไข่กลับ กลีบดอกรูปขนานแกมรูปไข่ กลีบทั้ง 5 กลีบมีสีขาว ขอบกลีบมีขลิบเป็นสีม่วงคราม บางต้นอาจมีสีออกไปทางแดง หรือไปทางสีน้ำเงินก็มี ปลายกลีบมน กลีบปากรูปลิ่ม มีเดือย ดอกแบนและปลายโค้งลง ดอกบานทนนาน ประมาณ 2 สัปดาห์ และมีกลิ่นหอม

ฤดูกาลที่ออกดอก คือฤดูร้อน ระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม

แหล่งกระจายพันธุ์ เขาแกะ มีแหล่งกระจายพันธุ์บริเวณป่าดิบแล้ง หรือป่าโปร่งผลัดใบในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สำหรับประเทศไทยพบในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้


วิธีการปลูกเลี้ยง

เขาแกะเป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ทนแล้งได้ดี ชอบแสงแดดและอากาศถ่ายเทมากกว่าไอยเรศและช้าง อาจปลูกติดไว้กับต้นไม้ ท่อนไม้ หรือปลูกลงกระเช้าไม้



ขอบคุณเว็บไซด์ที่ให้ข้อมูลทีดีแก่เรา

www.orchidtropical.com, รวมทั้งภาพสวยจาก Flickr และเว็บอื่น ๆ

เอื้องไอยเรศ..มาลัยย้อยห้อยเป็นพวง

เอื้องไอยเรศ : เป็นหนึ่งในกล้วยไม้สายสกุลช้าง (Rhynchostylis)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า : Rhynchostylis retusa (L.) Blume
ชื่อพื้นเมืองของไทยเรียกกันหลายชื่อ : ไอยเรศ, พวงมาลัย, เอื้องพวงหางรอก, เอื้องหางฮอก




เอื้องไอยเรศ เป็นกล้วยไม้ป่าพันธุ์แท้ ที่มีถิ่นกำเนิดกระจายไปทั่วประเทศไทย แต่ที่งดงามช่อแน่นและยาว เห็นว่าจะไอยเรศที่มาจากป่าแถบตะวันตก สำหรับในต่างประเทศก็มีที่ศรีลังกา เนปาล ภูฎาน พม่า จีน ประเทศแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และหมู่เกาะบอร์เนียว 

ไอยเรศที่ขึ้นอยู่ในป่า
ไอยเรศชอบอยู่ในป่า และเกาะตามต้นไม้ใหญ่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  

  • เป็นกล้วยไม้ที่มีลำต้นใหญ่แข็งแรง คล้ายกล้วยไม้ช้างแต่ใบยาวกว่าและแคบกว่า ใบยาวประมาณ 40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีทางสีเขียวแก่สลับกับสีเขียวอ่อนตามความยาวของใบคล้ายกล้วยไม้ช้าง ปลายใบมีลักษณะเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน 
  • ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก โค้งห้อยลง ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ในหนึ่งช่อมีดอกประมาณ 150 ดอก มากกว่ากล้วยไม้ช้าง รูปร่างลักษณะของช่อดอกที่ยาวเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายกับลักษณะของพวงมาลัย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พวงมาลัย”  ในภาษาอังกฤษบางครั้งเรียกว่า Foxtail หรือ foxtail orchid rhynchostylis retusa ต้นใหญ่ ๆ มักจะแตกหน่อที่โคนต้น เกิดเป็นกอใหญ่ขึ้นได้ 
  • ลักษณะของดอก มีขนาดประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร สีพื้นของกลีบนอกและกลีบในของดอกเป็นสีขาว มีจุดสีม่วงประปราย เดือยดอกมีสีม่วงอ่อน แผ่นปากมีลักษณะโค้งขึ้นบนแล้วยื่นไปข้างหน้า มีแต้มสีม่วงตรงกลางแผ่นปากส่วนโคน และปลายสุดแผ่นปากเป็นสีขาว ปลายแผ่นปากเว้า เส้าเกสรเห็นชัด ดอกจะบานอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์  ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
  • ไอยเรศ พันธุ์ที่ดอกมีสีขาวล้วน จะเรียกว่า "ไอยเรศเผือก" ซึ่งเป็นพันธุ์ที่หายากมาก  เช่นเดียวกับไอยเรศสีแดงล้วนเหมือนช้างแดง มักพบเห็นได้ยาก แต่ที่เห็นมีคือใบของมันจะจะไม่เขียวซะทีเดียว แต่จะอมสีแดงม่วง เรียกว่า "ไอยเรศแดง"
  • ฤดูกาลในการออกดอก จะอยู่ในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

เอื้องไอยเรศ หรือ เรียกว่า "พวงมาลัย"  Foxtail

ไอยเรศที่ปลูกเลี้ยงภายในบ้าน ได้รับแสงพอควร
วิธีการปลูกเลี้ยง
ไอยเรศปลูกเลี้ยงได้ง่าย ให้ดอกทุกปี 
  • ชอบแสงแดดมากกว่ากล้วยไม้ช้าง จึงควรปลูกไว้ในที่รับแสงแดดมากกว่ากล้วยไม้ช้างเล็กน้อย
  • วิธีการปลูกอาจเกาะไว้กับกิ่งไม้หรือท่อนไม้ ไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดด หรือจะปลูกลงกระเช้าไม้ แขวนไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดเพียงพอ 
  • ควรปลูกในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ช่วงต้นฤดูฝนจะทำให้ต้นและรากเติบโตดี


ไอยเรศเผือก

ไอยเรศเผือก
   
                     <<คราวนี้พามาชมความงามของดอกกันให้ชัด ๆ แบบเต็มตาเลยนะคะ>>


ไอยเรศฝักข้าวโพด มีช่อดอกแน่นมากค่ะ
ภาพถ่ายจากร้าน orchidbangkok.com ค่ะ


ช่อดอกเอื้องไอยเรศ หรือ พวงมาลัย


ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากเว็บไซด์
นานาพรรณไม้, วิกิพีเดีย, Flickr ที่แชร์รูปภาพสวย ๆ และเว็บไซด์อื่นที่มิได้เอ่ยนามค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กล้วยไม้สายพันธุ์ช้าง (Rhynchostylis gigantea)

ช้าง (Rhynchostylis gigantea)

เป็นชื่อกล้วยไม้ชนิดหนึ่งใน 4 ชนิด ของกล้วยไม้สายสกุลช้าง (Rhynchostylis) เป้นกล้วยไม้ช้างมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พม่า ทางตอนใต้ของจีน ประเทศในแถบอินโดจีน อินโดนีเซีย และหมู่เกาะทะเลจีนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในแถบภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น หนองคา มุกดาหาร สกลนคร เลย นครราชสีมา ต่ำลงมาจนถึงตอนเหนือของภาคกลาง เช่น นครสวรรค์ ชัยนาท และภาคตะวันออก เช่น ปราจีนบุรี และแถบจังหวัดกาญจนบุรี  พบว่าขึ้นกระจายทั่วไปในป่าที่มีระดับความสูงประมาณ 260-350 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งกระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคของไทย ยกเว้นภาคใต้




ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
  • กล้วยไม้ช้าง มีรูปร่างใหญ่โตกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกัน 
  • ใบหนา แข็ง ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ปลายใบเป็นแฉก 2 แฉก มน และสองแฉกของใบไม่เท่ากัน 
  • ราก เป็นรากอากาศ มีขนาดใหญ่ ปลายรากมีสีเขียว 
  • ช่อดอก เป็นรูปทรงกระบอกโค้งลง ช่อดอกยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ช่อละ 25-60 ดอก ขนาดดอกประมาณ 2.5-3.0 เซนติเมตร กลีบนอกคู่ล่างกว้างยาวพอๆ กันกับกลีบนอกบน ส่วนกลีบในเรียวกว่ากลีบนอก เดือยดอกอยู่ในลักษณะเหยียดตรงไปข้างหน้า ปลายแผ่นปากหนา แข็งและปลายสองข้างเบนเข้าหากัน ปลายปากมี 3 แฉก สองแฉกข้างมน แฉกกลางมนและมีขนาดเล็กกว่ามาก ใกล้โคนปากด้านบนมีสันนูนเตี้ยๆ 2 สัน 
  • ดอกมีกลิ่นหอมฉุน หอมไกล ดอกบานในระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และบานทนได้ประมาณสองหรือสามสัปดาห์ 

ช้าง(Rhynchostylis gigandtea) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะสีของดอก คือ ช้างกระ ช้างแดง และช้างเผือก ทั้งสามประเภทเป็นพันธุ์แท้พันธุ์เดียวกัน มีลักษณะลำต้น ใบ ราก ช่อดอก และดอกคล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันตรงที่สีของดอก ดังนี้

  • ช้างกระ มีดอกมีพื้นสีขาวประด้วยจุดสีม่วงแดง เป็นเม็ดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ ที่กลีบดอกทุกกลีบ บางต้นอาจมีเพียง 2-3 จุดหรือมีมากมายเต็มกลีบดอกก็ได้ ปากมีสีม่วงแดง มีทั้งสีอ่อนและสีเข้ม



  • ช้างแดง ดอกมีสีม่วงแดงทั้งดอกหรือเกือบทั้งดอก อาจมีสีขาวหลงเหลืออยู่บ้างที่โคนกลีบดอก แต่ถ้าไม่มีสีขาวปนอยู่เลยจะถือว่าดีมาก



  • ช้างเผือก มีดอกสีขาวล้วนบริสุทธิ์ แต่อาจจะมีเขียวหรือเหลืออ่อนที่ปาก




นอกจากนี้ยังมี ช้างประหลาด ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างช้างแดงกับช้างกระ สีของดอกมีจุดสีม่วงแดงใหญ่กว่าช้างกระ บางต้นจุดสีมีขนาดใหญ่จนเกือบเต็มกลีบดอก คล้ายกับสีของดอกช้างแดง แต่ยังมีสีขาวของพื้นกลีบดอกเหลืออยู่






ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
http://orchid1234.comyr.com, http://www.nanapanmai.com
และเว็บไชด์ต่างๆ ที่สนับสนุนรูปภาพสวย ๆ
http://www.flickr.com

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชวนมาชม..กล้วยไม้สกุลช้าง Rhynchostylis

กล้วยไม้สกุลช้าง (Rhynchostylis) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศในแถบอินโดจีน อินเดีย ศรีลังกา ภาคใต้ของหมู่เกาะในทะเลจีน และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก สำหรับในประเทศไทยพบว่า กล้วยไม้สกุลช้างมีกระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคของประเทศ บางภาคอาจมีกล้วยไม้สกุลช้างชนิดหนึ่ง แต่อาจไม่มีอีกชนิดหนึ่ง




กล้วยไม้สกุลช้างที่พบตามธรรมชาติเพียง 4 ชนิด คือ


  • ช้าง (Rhynchostylis gigantea) 
  • ไอยเรศหรือพวงมาลัย (Rhynchostylis retusa) 
  • เขาแกะ (Rhynchostylis coelestis) และ 
  • ช้างฟิลิปปินส์ (Rhynchostylis violacea) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์



  • ลักษณะทางพฤษศาสตร์
    กล้วยไม้สกุลช้างมีลักษณะที่แตกต่างไปจากกล้วยไม้สกุลอื่น ๆ
    • ลำต้น สั้นแข็งแรง ใบแข็งแรง หนาอวบน้ำ บางชนิดใบเล็กยาว ปลายใบหยักมนหรือเป็นฟันแหลม ใบมีลายเป็นเส้นขนานหลายเส้นตามแนวยาวของใบ 
    • ราก เป็นระบบรากอากาศ มีขนาดใหญ่ แขนงรากใหญ่ ปลายรากมีสีเขียวซึ่งสามารถปรุงอาหารด้วยวิธีสังเคราะห์ด้วยแสงได้ 
    • ช่อดอก ตั้งโค้งหรือห้อยย้อยลงมา ดอกจะออกกันแน่นช่อ กลีบดอกชั้นนอกโตกว่ากลีบชั้นใน ปากไม่มีข้อพับ ปลายปากไม่หยัก หรือหยักเป็นลอนเล็ก ๆ 3 ลอน ปลายปากชี้ตรงไปข้างหน้าเชื่อมต่อกับฐานเส้าเกสร เดือยดอกชี้ไปข้างหลัง มีอับเรณู 2 ก้อน แยกออกจากกัน 
    • ออกดอกปีละ 1 ครั้ง บางต้นอาจจะออกดอกครั้งละหลายช่อ

    เอื้องไอยเรศเผือก
       
    เขาแกะ
    การปลูกเลี้ยง 

    วิธีการปลูก โดยทั่วไปมักปลูก 2 วิธี ได้แก่
    1. การปลูกในภาชนะ เช่น กระเช้าไม้สัก ท่อนไม้มีเปลือก กระถางก้นเตี้ยแบบแขวน
    2. ผูกติดไว้กับต้นไม้ วิธีการปลูกจะทำตามชนิดของกล้วยไม้ เช่น ช้าง ออกดอกฤดูหนาว ปลูกโดยหันไปทางทิศใต้ เพื่อรับแสงอาทิตย์ที่ส่องทางทิศใต้ ไอยเรศและเขาแกะ ออกดอกฤดูร้อน ปลูกโดยหันทางทิศใดทิศหนึ่งเพื่อรับแสงแดดจากด้านบน
    3. การย้ายกระถางควรระวังความเสียหายของราก ถ้ารากติดกระถางให้แช่ในน้ำประมาณ 10 นาทีแล้วแกะรากออก

    แสงแดด
    • กล้วยไม้สกุลช้าง แสงแดด อากาศถ่ายเทสะดวก การปลูกจึงควรหันไปทางทิศที่รับแสงแดดได้ดี กล้วยไม้ขนาดเล็กควรได้รับแสงไม่เกิน 40 % ความชื้นค่อนข้างสูง 

    การให้น้ำ
    • ใช้หัวฉีดแบบฝอยละเอียดพ่นละอองทุกเช้าให้ชุ่ม

    การให้ปุ๋ย
    • ต้นไม้ขนาดเล็กให้ปุ๋ยสูตร 30 – 20 – 10 ทุก 7 วัน ในช่วงฤดูออกดอกให้สูตร 10 – 52 – 10 ประมาณ 2 ครั้ง แล้วให้ปุ๋ยอื่น ๆ ตามปกติ เช่น ปุ๋ยสูตร 21 – 21 – 21
    ช้างฟิลิปปินส์

    ช้างฟิลิปปินส์


    เว็บไซด์สนับสนุนข้อมูลดี ๆ ให้แก่เรา ด้วยความขอบคุณ :-
    nanapanmai.comguru.google.co.th
    รูปภาพสวย ๆ จากเว็บไซด์ต่าง ๆ ที่มิได้เอ่ยนาม ด้วยความขอบคุณยิ๋งค่ะ

    เที่ยวงาน "มหัศจรรย์กล้วยไม้แห่งรักษ์ รักษ์กล้วยไม้ รักษ์แผ่นดิน ปี 2556

    การจัดประกวดกล้วยไม้ภายในงาน "Siam Paragon Bangkok Royal Orchid Paradise" ณ สยามพารากอน นั้น ได้เริ่มต้นจัดมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่ 7 ของการจัดงานประกวด  โดยในปีนี้จัดภายใต้งานชื่อ "มหัศจรรย์กล้วยไม้แห่งรักษ์..รักษ์กล้วยไม้ รักษ์แผ่นดิน" ระหว่างวันที่ 6-12 มิถุนายน 2556  



    ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นการสนับสนุน และยกระดับอุตสาหกรรมกล้วยไม้ไทยสู่มาตรฐานโลก ตามยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ในตลาดโลกปี 2554 2559 ที่กำหนดเป้าหมายการส่งออกกล้วยไม้ให้ได้ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2559 ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้เขตร้อนอันดับ 1 ของโลก และปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถส่งออกกล้วยไม้ได้กว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ได้จัดให้มีการประกวดกล้วยไม้สกุลช้าง ชนิดไอยเรศ (Rhynchostylist retusa L.) ขึ้นเป็นกรณีพิเศษ 


    นอกเหนือจากการประกวดกล้วยไม้สกุลช้าง ไอยเรศแล้ว ได้จัดให้มีการประกวดกล้วยไม้สกุลอื่น ๆ อีก 9 กลุ่ม ได้แก่
    1. สกุลแวนดา และสกุลแอสโคเซ็นดา
    2. สกุลคัทลียา และสกุลใกล้เคียง
    3. สกุลหวาย
    4. สกุลออยซิเดียม และสกุลใกล้เคียง ซิมบิเดียม แกรมมาโตฟิลลัม กล้วยไม้ดิน
    5. สกุลรองเท้านารี และสกุลใกล้เคียง
    6. สกุลฟาแลนนอปซิส และสกุลใกล้เคียง
    7. สกุลหวายแดง (เรแนนเธอรา) แมลงปอ (อแรคนิส) และม็อคคารา
    8. กล้วยไม้พันธุ์ไทยแท้
    9. กล้วยไม้ลูกผสมอื่น ๆ และลูกผสมช่อแรกทุกสกุล

    ดิฉันได้มีโอกาสไปเที่ยวงานดังกล่าว มีผู้คนมากมายแต่ละคนต่างสาละวนกับการถ่ายภาพสวยงามของกล้วยไม้ที่ชนะการประกวด ตัวดิฉันเองก็ไปในงานด้วยโดยเป็นมือกล้องสมัครเล่นหัดถ่ายภาพ ถ่ายอย่างเดียวเลย ไม่ได้ดูรายละเอียดว่า เป็นกล้วยไม้ชื่ออะไร สายพันธุ์อะไร เพราะแค่ถ่ายก็ไม่ไหวแล้วเยอะมาก ๆ ได้แต่ดูป้ายว่าต้นนี้ได้รางวัลที่ 1, 2 หรือ 3 น่าเสียดายที่ถ่ายรูปออกมาไม่ชัด เพราะมือไม้สั่นไปหมด ก็เลยคัดเฉพาะที่พอดูได้มาฝากกันนะค และเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก

    ภาพกล้วยไม้ที่ถ่ายภายในงานค่ะ


      


     










    ปีหน้าพบกันใหม่ในงานกล้วยไม้ ปี 2557 นะคะ :))